วันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562


🔺การสำรวจสถานภาพความรู้ทั่วไป🔺
เกี่ยวกับเรื่อง ไทใหญ่

          ชาวไทใหญ่ เป็นหนึ่งในชาติพันธุ์ที่อาศัยและกระจัดกระจายกันอยู่ในดินแดนแถบอุษาคเนย์ ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและยังเป็นเส้นทางในการเดินทางค้าขายที่สำคัญระหว่างอินเดียกับจีนทำให้มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายอาศัยอยู่ในอุษาคเนย์ภาคผืนแผ่นดินรวมไปถึงชาติพันธุ์ไทใหญ่ ชาวไทใหญ่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาของตัวเองมาอย่างยาวนานนับพันปี จากหลักฐานเอกสาร พงศาวดาร อีกทั้งมีประเพณีวัฒนธรรม การเมืองการปกครอง ความเชื่อ สถาปัตยกรรม ศิลปะ และวิถีชีวิตที่โดดเด่นและคล้ายคลึงกับชนชาติอื่นๆที่อาศัยอยู่ในแถบเดียวกัน ชนชาติไทใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยที่กระจัดกระจายกันอยู่ตามพื้นที่ชายแดนของแต่ละประเทศในอุษาคเนย์ไม่ว่าจะเป็น ไทย ลาว กัมพูชา จีน เวียดนาม อินเดีย แต่ส่วนใหญ่ชาวไทใหญ่จะอาศัยอยู่ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์ ซึ่งในปัจจุบันชนชาติไทใหญ่มีกองกำลังติดอาวุธเป็นของตนเองสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งมาตั้งแต่อตีดกับรัฐบาลเมียนมาร์ ซึ่งในประเทศเมียนมาร์นั้นมีประชาชนที่มีความแตกต่างกันมากทางด้านชนชาติและวัฒนธรรม จึงเป็นการยากที่ผู้คนในประเทศนี้จะหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อีกทั้งปัญหาความไม่เท่าเทียมกันกับชนกลุ่มน้อยภายในประเทศและการใช้กองกำลังในการเข้าควบคุมชนกลุ่มน้อยเพื่อให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการไร้ความสามารถที่จัดการระเบียบประเทศ และทำให้ชาวไทใหญ่ซึ่งเป็นหนึ่งในชนกลุ่มน้อยในเมียนมาร์ไม่ได้รับความเป็นธรรมและต้องการเรียกร้องเอกราชจากเมียนมาร์
จากข้อมูลข้างต้นในการศึกษาครั้งนี้ผู้จัดทำการสำรวจสถานภาพความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเรื่อง ไทใหญ่ได้มีการรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับไทใหญ่ โดยจุดมุ่งหมายเพื่อสำรวจและต้องการทราบถึงความเป็นมาของชนชาติไทใหญ่และความเกี่ยวข้องความเชื่อมโยงของชาวไทใหญ่ชาติพันธุ์อื่นๆที่มีความคล้ายคลึงกันทางวัฒนธรรม โครงสร้างทางสังคมของชาวไทใหญ่ การเข้าสู่ความขัดแย้งของชนชาติไทใหญ่และรัฐบาลกลางเมียนมาร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และนำไปใช้ในการต่อยอดและสร้างสรรค์งานใหม่ในรูปแบบของงานวิจัย บทความ สารคดี โดยผู้จัดทำได้ใช้วิธีการในศึกษาโดยการสำรวจทั้งประเภทเอกสารไทยจากฐานข้อมูลออนไลน์ ได้แก่ ฐานข้อมูลThailis , ฐานข้อมูล Thaijo , Google Scholar , โครงการตำรามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ อีกทั้งยังได้รวบรวมงานข้อมูลประเภทวิดิทัศน์ที่เกี่ยวกับไทใหญ่จาก https://www.youtube.com โดยใช้คำสำคัญในการสืบค้นว่า ไทใหญ่ และได้แยกข้อมูลที่ได้รวบรวมมาออกเป็นมิติต่างๆ ทั้งด้านประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม ศิลปกรรม ความเชื่อ และการเมืองการปกครอง โดยรวบรวมงานศึกษา ในการสำรวจสถานภาพความรู้ครั้งนี้ สามารถรวบรวมเอกสารและวิดีทัศน์ได้ทั้งหมด 20 งาน โดยแบ่งเป็น เอกสาร 16 งาน และวิดิทัศน์ 4 วิดิทัศน์ 
โดยผู้จัดทำได้แบ่งงานศึกษาสถานภาพความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับไทใหญ่ออกเป็นประเด็นย่อยได้ 5 ด้าน คือ ด้านประวัติศาสตร์ ด้านสังคมและวัฒนธรรม ด้านการเมือง ด้านศิลปกรรม และสื่อวิดีทัศน์ ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1.ด้านประวัติศาสตร์ 
 ในการสำรวจสถานภาพความรู้เกี่ยวกับเรื่องไทใหญ่ ในด้านประวัติศาสตร์ พบงานศึกษาเกี่ยวกับไทใหญ่เป็นจำนวน   7    ผลงานดังนี้
1.หนังสือของ สมพงศ์ วิทยศักดิ์พันธุ์.(2542). เรื่อง ประวัติศาสตร์  สังคมและวัฒนธรรมของชนชาติไท พบว่า เป็นงานเขียนที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ข้อมูลทั่วไปของไทใหญ่ ตั้งแต่ตำนานการก่อตั้งอาณาจักรของกลุ่มชาติพันธุ์ไทขึ้นภายหลังคริสตวรรษที่ 10  ซึ่งมีกลุ่มคนไทใหญ่อาศัยกระจายอยู่ในแถบทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมีชื่อเรียกที่ไม่เหมือนกันตามแต่ละท้องถิ่น ศาสนาและความเชื่อของชาวไทใหญ่ รูปแบบการเมืองการปกครองของไทใหญ่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รูปแบบการสร้างบ้านเรือนที่จะมีความคล้ายคลึงกับล้านนา รูปแบบการค้าขายโดยส่วนใหญ่ชาวไทใหญ่จะประกอบอาชีพเป็นเกษตรกร ระบบการเรียนการศึกษาโดยจะเรียนเป็นภาษาพม่ากับภาษาจีน และวิถีชีวิตของชาวไทใหญ่ รวมไปถึงช่วงที่ชาวไทใหญ่ในยุคล่าอาณานิคมซึ่งมีกลุ่มคนไทใหญ่หลายกลุ่มตกอยู่ภายใต้อาณานิคมทางประเทศแถบตะวันตกนั้นก็คือ อังกฤษ ซึ่งการเข้ามาชาติตะวันตกทำให้เกิดเส้นทางการค้าขายและการล่มสลายของผู้นำบางท้องถิ่นในกลุ่มคนไท ทำให้ชาวไทใหญ่ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ที่แตกต่างกัน หรือการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมไทใหญ่เมื่อเกิดการผสมผสานกับวัฒนธรรมของชนเผ่าอื่นๆ
2.หนังสือของเจ้ายันฟ้าแสนหวี.(2544) .เรื่อง ประวัติศาสตร์ไทใหญ่พื้นฐานตอนกลาง เป็นหนังสือที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับทางด้านประวัติศาสตร์ของชนชาติไทในแถบแม่น้ำอิระวดีกับแม่น้ำสาละวิน ซึ่งอยู่ในรัฐฉานประเทศเมียนมาร์ในปัจจุบัน แสดงให้เห็นวิวัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรม เช่น การสืบทอดอำนาจ การขยายอาณาเขต ยุคของความความเจริญรุ่งเรืองและยุคของความเสื่อมถอยของอาณาจักร รวมถึงความผูกพันต่อชนชาติไทกลุ่มอื่นและความสัมพันธ์กับชนชาติไทย ซึ่งได้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่12 จะตรงกับอาณาจักรหมอกขาวมาวหลวง จนถึงช่วงสมัยอาณาจักรแสนหวีหลวงตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 ต่อมาก็ได้กลายมาเป็นชนชาติส่วนน้อยกลุ่มหนึ่งที่เข้ารวมกันกับสหภาพพม่าในปี ค.ศ.1948 และในที่สุดเจ้าฟ้าไททั้งหลายก็สละอำนาจพร้อมกันในปี ค.ศ.1952 ด้วยความกดดันจากรัฐบาลทหารของพม่าในช่วงนั้น
ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ หนังสือประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมของชนชาติไท สมพงศ์ วิทยศักดิ์พันธุ์
3.หนังสือของ เจ้าพระยาธรรมมาเต้ (2544)  เรื่อง พงศาวดารเมืองไท (เครือเมืองกูเมือง) พบว่า เป็นหนังสือที่ให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของราชวงศ์เจ้าฟ้าในอาณาเขตการปกครองของอาณาจักรมาวหลวงเดิม และประวัติศาสตร์เจ้าฟ้าเมืองต่างๆตลอดถึงการกระทำสงครามระหว่างไทใหญ่กับจีนหรือไทใหญ่กับพม่า จนในที่สุดเมืองไทต่างๆได้ถูกแบ่งแยกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า และอีกส่วนหนึ่งตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีน อีกทั้งยังมีหลักฐานเอกสารอ้างอิงทางประวัติศาสตร์จากบันทึก จดหมายเหตุ ประวัติศาสตร์จีน ทำให้เข้าใจบริบทของเรื่องราวที่ตรงกับเหตุการณ์จริงทางประวัติศาสตร์มากขึ้นซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ อีกทั้งหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องราวของชาวไทใหญ่ที่อยู่ในประเทศจีน มณฑลยูนนาน ซึ่งอยู่ใกล้กับประเทศพม่า และเมืองมาวก็เป็นเมืองสำคัญของชาวไทใหญ่ก็อยู่ระหว่างประเทศพม่าและจีน ทำให้ชาวไทใหญ่ในเมืองมาวหรือชาวไทมาวถูกแยกออกเป็นสองส่วนแต่ก็ยังคงมีวัฒนธรรมที่ร่วมกันถึงแม้จะถูกแบ่งออกแล้วก็ตาม
ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ งานค้นคว้าเรื่องชนชาติไทย
4.หนังสือของ หลวงวิจิตรวาทการ.(2549). เรื่อง งานค้นคว้าเรื่องชนชาติไทย พบว่า เป็นหนังสือที่รวบรวมการนำเสนอรายงานผลการค้นคว้าของนักวิชาการและนักเดินทางชาวตะวันตก ต่อแนวคิดกระแสหลัก ที่กล่าวว่าถิ่นกำเนิดของคนไทยอยู่ในดินแดนจีน อีกทั้งยังแบ่งเนื้อหาหลักของการศึกษาเกี่ยวกับชนชาติไทยเป็น 2 ภาค คือ ว่าด้วยชนชาติไทยทั่วไป  กับ เรื่องของไทยในสาขาต่างๆในปัจจุบัน โดยจะได้รู้จักเชื้อชาติไทยแต่ละสาขา ทั้งไทยลานช้าง ไทยใหญ่ ไทยอาคม ไทใหญ่ และไทยในตังเกี๋ย และยังมีเนื้อหาเรื่อง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และประเพณีต่างๆ ซึ่งในส่วนเนื้อหาเกี่ยวกับไทใหญ่นั้นจะกล่าวถึง ไทใหญ่ถึงแม้จะมีจำนวนประชากรมากหากเทียบกลุ่มอื่นในรัฐฉาน แต่ถูกอิทธิพลของพม่าเข้ามามากทำให้ความเป็นไปของชาติจึงสับสน มีการอธิบายถึงรูปลักษณ์และลักษณะนิสัยของคนไทใหญ่ มีการกล่าวถึงพงศาวดารบ้างแต่เป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับเชื้อวงศ์ที่ครองแต่ละรัฐ ทำให้การกล่าวถึงเรื่องของไทใหญ่โดยรวมในฐานที่เป็นชาติ มีเพียงเล็กน้อยในงานค้นคว้าครั้งนี้
ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ไทใหญ่ ความเป็นใหญ่ในชาติพันธุ์
5.หนังสือของ โครงการพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมและชาติพันธุ์ล้านนา.(2551).เรื่อง ไทใหญ่ ความเป็นใหญ่ในชาติพันธุ์ พบว่า เป็นงานเขียนที่ให้ข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับชาวไทใหญ่ โดยเริ่มจากดินแดนล้านนา ซึ่งก็คือบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายมาอย่างยาวนาน มีการอพยพโยกย้ายของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆมาตั้งแต่สมัยหริภุญไชย เป็นเส้นทางการติดต่อค้าขายสินค้า ทำให้มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์แล้วหนึ่งในนั้นก็คือ ชาวไทใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีชุมชนอาศัยอยู่ในภาคเหนือเป็นจำนวนมาก ซึ่งเนื้อหาในเล่มนี้ครอบคลุมในทุกๆด้านของชาวไทใหญ่ ทั้งด้านที่มาที่ไป ตำนานของชาวไทใหญ่ รวมไปถึงปรากฏอยู่ในเอกสารจีน ด้านสังคมและวัฒนธรรมของคนไทใหญ่ในอดีตและในปัจจุบัน ข้อมูลไทใหญ่ในล้านนาที่ขณะนี้มีการกระจายกลุ่มในแถบภาคเหนือของไทย เช่น ไทใหญ่เชียงใหม่ ไทใหญ่แม่ฮ่องสอน ลักษณะสถาปัตยกรรมของชาวไทใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น บ้านเรือน วัด ลวดลายประดับหลังคา เส้นสายงานหัตถกรรมของชาวไทใหญ่ ชาวไทใหญ่กับประเพณีที่ไร้พรมแดน เช่น ปอยส่างลอง และความเชื่อในเรื่องคัมภีร์ของชาวไทใหญ่ โหรศาสตร์และสุขศาสตร์
ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ รัฐฉาน (เมืองไต):พลวัตของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และสังคมการเมืองร่วมสมัย
6.หนังสือของ เสมอชัย พูลสุวรรณ (2552) เรื่อง รัฐฉาน (เมืองไต):พลวัตของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และสังคมการเมืองร่วมสมัย พบว่า  ฉาน เป็นชื่อที่ชาวพม่าเรียกกลุ่มคนที่พูดภาษาไต ซึ่งการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนโดยการใช้เกณฑ์จำแนกทางภาษานั้น ทำให้มีการสืบเสาะหารากเหง้าของ ฉาน พบทฤษฎีแนวหนึ่งที่ได้รับความนิยม กล่าวว่า ฉาน เคยมีความยิ่งใหญ่ในประเทศจีน โดยเป็นเจ้าของอาณาจักรน่านเจ้าซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองต้าหลี่ ตอนกลางของมณฑลยูนนานและได้มีอิทธิพลอยู่ในพื้นที่จนกระทั่งถูกกองทัพมองโกลตีแตกในตอนกลางคริสตฺศตวรรษที่ 13 ดังนั้นวาทกรรมว่าด้วยความยิ่งใหญ่และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทางภาษาและวัฒนธรรมกลายเป็นเชื้อความคิดหลักต่อมาสำหรับสมมุติชุมชน ฉาน ในจินตนาการเพื่อแสดงถึงความเป็นชาติพันธุ์ที่ยิ่งใหญ่ข้ามพ้นข้อจำกัดทางพรมแดนระหว่างประเทศหรือขอบเขตความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ เพื่อเรียกร้องอิสรภาพของคนกลุ่มฉานหรือไต ที่ตกอยู่ในสภาพของการเป็นชนกลุ่มน้อยของบางประเทศในปัจจุบัน แต่ใช่ว่าการใช้เกณฑ์ภาษาอย่างเดียวจะสามารถจำแนกกลุ่มคนได้ว่าพวกเขามีความสัมพันธ์ระหว่างกัน เช่น ชาวยอง ที่เมืองยอง อยู่ในรัฐฉานฟากตะวันออก รู้สึกว่าตนเองเป็นยองในฐานะชาวเมืองซึ่งเป็นทั้งหน่วยปกครองและหน่วยวัฒนธรรมในเวลาเดียวกัน แต่ขณะเดียวกันก็มีสำนึกของความเป็น ลื้อ อยู่ด้วยในฐานะที่พวกตนมีความสัมพันธ์ทางภาษา วัฒนธรรม และรากเหง้าความเป็นมาทางตำนานที่เกี่ยวข้องกับ ลื้อ แห่งอาณาจักรเชียงรุ่งสิบสองปันนา แสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนในวิธีคิดแบบคนพื้นเมือง ในการจัดจำแนกและรับรู้ความเป็นกลุ่มของผู้คน ไม่มีความเป็นเอกทัศน์เบ็ดเสร็จเด็ดขาดในตัว หากแต่ว่าตกอยู่ภายใต้พลวัต ที่สามารถถูกปรับเปลี่ยน เคลื่อนย้าย ยุบรวม หรือว่าแยกตัวออกจากกันได้ ไม่ว่าจะเป็นบางส่วนหรือทั้งหมด ถาวรหรือเฉพาะกิจ ซึ่ง รัฐฉาน ในปัจจุบันประกอบด้วย 2 เขตวัฒนธรรมหลักที่แยกออกจากกันคราวๆในทางภูมิศาสตร์ด้วยแนวแม่น้ำสาระวินที่ไหลผ่านกลาง แบ่งพื้นที่เป็นดินแดนฟากตะวันตกและดินแดนฟากตะวันออกของแม่น้ำ โดยผู้คนที่อยู่ในดินแดนสองฝั่งแม่น้ำเคยมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และพัฒนาการทางวัฒนธรรมที่แยกจากกันมานานหลายศตวรรษก่อนหน้านี้ รวมถึงเคยมีสำนึกทางชาติพันธุ์ ที่แปลกแยกกันเป็นคนละกลุ่มมาก่อนด้วย จนกระทั่งภายหลังการเกิดขึ้นมาของ รัฐฉาน ในทางการเมืองและการละเมิดสนธิสัญญาปางโหลงโดยรัฐบาลพม่าในปี ค.ศ.1958 เป็นต้นมา จึงเกิดความพยายามปลุกสำนึกและสร้างอัตลักษณ์ร่วมของความเป็น ไต ให้เกิดขึ้น โดยมีเป้าหมายทางการเมืองเพื่อสร้างความสมานฉันท์ระหว่างผู้คนสองฟากฝั่งแม่น้ำสาละวิน
ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ภูมิหลังชนชาติพยู มอญ พม่า
7.หนังสือของ ไพโรจน์   โพธิ์ไทร (2555)  เรื่อง ภูมิหลังชนชาติพยู มอญ พม่า พบว่า เป็นหนังสือที่ให้ความรู้ทั่วไปของพม่าทั้งทางด้านการเมือง การปกครอง ขนบธรรมเนียมประเพณี การทหาร ศาสนา ของชนชาติพม่าโบราณเพราะประเทศพม่าเป็นดินแดนเก่าแก่ที่มีผู้คนมาตั้งกรรากอยู่อาศัยและมีการโยกย้าย เคลื่อนย้ายของผู้คนมานานนับ 1,000 ปีจากราชวงศ์ตองอูซึ่งเป็นยุคที่เจริญรุ่งเรืองของพม่าในสมัยของพระเจ้าบุเรงนอง จนถึงช่วงที่พม่าตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ การต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ การถูกปกครองโดยรัฐบาลทหารและการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยจากรัฐบาลทหาร  ซึ่งข้อมูลความรู้ที่ได้มานั้นมาจากการเรียบเรียงเพราะข้อมูลเกี่ยวกับพม่าในประเทศไทยมีน้อยอีกทั้งความรู้ข้อมูลที่เกี่ยวกับประเทศพม่าส่วนใหญ่จะเป็นความรู้ที่ได้จากหนังสือประวัติศาสตร์จากฝั่งไทยมากกว่า ภายในหนังสือได้มีข้อมูลเกี่ยวกับไทใหญ่โดยจะเน้นข้อมูลไปทางด้านประวัติศาสตร์ เรื่องเล่า ตำนาน การทำศึกสงคราม การสร้างเมือง และเจ้าฟ้าคนสำคัญของไทใหญ่ เป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่มากแถบรัฐฉาน ประเทศพม่าในปัจจุบันหรืออาจจะมีการกระจัดกระจายกันไปตามภูมิภาคอุษาคเนย์ มีความสัมพันธ์ทั้งดีและไม่ดีกับชนกลุ่มน้อยอื่นๆในภูมิภาคอุษาคเนย์มาตั้งแต่สมัยโบราณ และเป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจในการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษและรัฐบาลกลางของพม่าเอง
สรุป จากการสำรวจสถานภาพความรู้เกี่ยวกับเรื่องไทใหญ่ ในด้านประวัติศาสตร์เป็นข้อมูลประเภทหนังสือทั้งหมด 7 เล่ม โดยเนื้อหาที่ได้ศึกษาพบว่า เนื้อหาส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชนชาติไทใหญ่ที่แต่ก่อนจะยังรวมกับอาณาจักรพุกาม ต่อมาเมื่ออาณาจักรพุกามล่มสลาย ชนชาติไทใหญ่ได้รวมตัวกันก่อตั้งอาณาจักรที่เป็นของชนชาติไทใหญ่เองนั้นก็คือ อาณาจักรมาวหรือเมืองมาวหลวง สถาปนาโดยพระเจ้าเสือข่านฟ้าซึ่งพระองค์สามารถขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขว้าง สามารถรวมชาวไทใหญ่ให้เป็นอันหนึ่งเดียวกันได้ และเป็นเจ้าฟ้าที่ชาวไทใหญ่เคารพนับถือกันมากจนถึงปัจจุบัน ต่อมาได้ถูกพม่า จีน และมองโกลรุกรานจนล่มสลายไป ชนชาติไทใหญ่ได้กระจายตัวกันไปตั้งถิ่นฐานใหม่ตามสถานที่ต่างๆในดินแดนอุษาคเนย์และยังไม่สามารถรวมตัวกันได้ อีกทั้งยังมีเนื้อหาส่วนอื่นๆที่สอดแทรกอยู่ในเนื้อหาด้วย เช่น ข้อมูลพื้นฐานของชนชาติไทใหญ่ในปัจจุบัน วัฒนธรรมที่สำคัญ วิถีชีวิตตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

2.ด้านสังคมและวัฒนธรรม
ในการสำรวจสถานภาพความรู้เกี่ยวกับเรื่องไทใหญ่ ในด้านสังคมศาสตร์และวัฒนธรรม พบงานศึกษาเกี่ยวกับไทใหญ่เป็นจำนวน  4   ผลงานดังนี้
ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ กว่าจะรู้ค่าคนไทในอุษาคเนย์
 1.หนังสือของ ธีรภาพ  โลหิตกุล (2544)  เรื่อง กว่าจะรู้ค่าคนไทในอุษาคเนย์  พบว่า หนังสือเล่มนี้เกิดจากความใคร่รู้ที่จะเข้าใจในเรื่องของความเป็นมาของชนชาติไทของผู้เขียนเองเลยได้เข้าไปทำการเก็บข้อมูลมาจาก 7 สถานที่ของชนชาติไทด้วยกัน คือ ไทลื้อสิบสองปันนา ไทขึนเชียงตุง ไทดำเดียนเบียนฟู ผู้ไทอีสาน ไทใหญ่แม่ฮ่องสอน ไท-ยวนล้านนา และไทลาวหลวงพระบาง อีกทั้งผู้เขียนแบ่งการนำเสนอข้อมูลออกเป็น 2 รูปแบบคือ สารคดีภาพคนในในอุษาคเนย์และตามรอยคนไทในอุษาคเนย์ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นของหนังสือเล่มนี้เพราะมีภาพประกอบเป็นจำนวนมากทั้งภาพขาว-ดำและภาพสี ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพความเหมือนและความแตกต่างของผู้คนชนชาติไทให้แต่ละพื้นที่ได้อย่างชัดเจน เช่น การโพกหัวของชาวไทขึนที่เชียงตุงจะใช้ภาพสีชมพู ส่วนชาวไทดำที่เดียนเบียนฟูจะใช้ภาพโพกหัวสีดำ โดยข้อมูลเกี่ยวกับไทใหญ่ในหนังสือจะเป็นไทใหญ่ที่แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นข้อมูลของการเข้ามาของไทใหญ่ในอดีตก่อนที่จะแบ่งเส้นเขตแดนเป็นประเทศ วัฒนธรรมของไทใหญ่ที่โดดเด่นหรือมีความคล้ายคลึงกับชนกลุ่มน้อยอื่นๆที่อยู่ในแม่ฮ่องสอน และวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์และดำรงมาถึงยุคปัจจุบัน
ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ชนชาติไทยในนิทาน : แลลอดแว่นคติชนและวรรณกรรมพื้นบ้าน
2.หนังสือของ ศิราพร ณ ถลาง (2545)  เรื่อง ชนชาติไทยในนิทาน : แลลอดแว่นคติชนและวรรณกรรมพื้นบ้าน เป็นหนังสือที่นำเสนอมุมมองเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมของชนชนติไท จากข้อมูลทางคติชนและวรรณกรรม ซึ่งถ้าหากไม่มีเส้นเขตแดนจะพบว่าในดินแดนแถบอุษาคเนย์มีผู้คนอยู่หลากหลายชาติพันธ์หนึ่งในนั้นก็คือ ชาติพันธุ์ไทใหญ่ คนไทใหญ่ที่กระจัดกระจายอยู่ในประเทศต่างๆนั้นมีการดำรงชีวิตอยู่ในบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่แตกต่างกันและอาจจะมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมกันบางอย่าง แต่ก็มีลักษณะร่วมกันในวัฒนธรรมทางด้านภาษา ความเชื่อ แบบแผนการตั้งหลักแหล่ง อาหารการกิน และวิถีชีวิตที่ผูกพันธ์กับข้าว เป็นต้น ไทใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในประเทศเมียนมาร์และมีการแตกแขนงกลุ่มคนออกไปมากมายไปตามสถานที่ไม่ว่าจะเป็น ไทเมา ไทอาหม ไทใต้คง ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีชื่อเรียกที่แตกต่าง แต่ก็ยังคงมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันและวัฒนธรรม ความเชื่อบางประการร่วมกันโดยในหนังสือจะยกประเด็นตำนาน เรื่องเล่า นิทาน เพื่อมาใช้ในการมองกลุ่มชาติพันธุ์ไทซึ่งเป็นจุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ เช่น การสถาปนาชนชาติไทของไทอาหมและไทใหญ่ที่มีความหคล้ายคลึงและต่อเนื่องกัน เพราะ การสถาปนาของไทใหญ่เกิดขึ้นตามตำนานเมืองมาวหรืออาณาจักรมาว ส่วนการสถาปนาของไทอาหมเกิดจากการชาวไทใหญ่อพยพตามกษัตริย์แห่งอาณาจักรมาวไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ลุ่มแม่น้ำพรมหบุตร 
3.บทความของ พรรณิดา ขันธพัทธ์ (2558) เรื่อง การปรับเปลี่ยนวิถีทางประเพณีพิธีกรรม ความเชื่อ  และอัตลักษณ์ของชาวไทใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ บทความนี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของชาวไทใหญ่ที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรม เมื่อชาวไทใหญ่มีการอพยพเข้ามาในประเทศไทยในช่วงที่รัฐบาลทหารพม่าได้ละเมิดสนธิสัญญาปางหลวง เข้ากวาดต้อน ปราบปราม ชาวไทใหญ่ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของตนเอง ทำให้ชาวไทใหญ่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเพื่อความปลอดภัยและตั้งถิ่นฐาน อีกทั้งยังมีบางส่วนที่เข้ามาเพื่อต้องการเข้ามาใช้แรงงาน ทำให้ในภาคเหนือของไทยหลายจังหวัดมีชุมชนไทใหญ่อยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ชาวไทใหญ่เป็นชนชาติที่มีการแสดงออกทางมิติการต่อสู้ทางการเมือง รวมทั้งมีสำนึกทางตัวตนเพื่อแสวงหาอิสรภาพและหลีกหนีความเป็นพม่าในเวลาเดียวกัน ดังนั้นเครื่องมีการต่อสู้ทางหนึ่งก็คือ การใช้วัฒนธรรมในการนิยามความเป็นตัวตน และใช้กำหนดความสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วย กระบวนการทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจก็คือ การพยายามดึงเอาประเพณีพิธีกรรมมาใช้ประโยชน์ในการสร้างสำนึกทางชาติพันธุ์ของชุมชนไทใหญ่ และการอาศัยอยู่ในประเทศไทยถือว่าเป็นโอกาสที่ทำให้ชาวไทใหญ่นั้นได้แสดงออกวัฒนธรรมอันบ่งบอกความเป็นอัตลักษณ์ของพวกเขาได้อย่างอิสระ อัตลักษณ์ของชาวไทใหญ่เป็นเรื่องราวที่ผสมผสานระหว่างเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงความเป็นชนชาติพันธุ์ไทที่มีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง  อัตลักษณ์เหล่านี้ได้แสดงออกในหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น ตํานาน เพลง ศิลปะ การแสดง ประเพณีพิธีกรรม ความเชื่อต่าง ๆ ที่สะท้อนถึงความเป็นตัวตนของ พวกเขา  และในบางช่วงเวลาชาวไทใหญ่ก็มีการผลิตซ้ำทางอัตลักษณ์โดยใช้สัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะประเพณีพิธีกรรมเป็นเครื่องมือในการนําเสนออัตลักษณ์ของตน ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า อัตลักษณ์ของชาวไทใหญ่มีส่วนสัมพันธ์กับประเพณีพิธีกรรม ตลอดจนความเชื่อที่แฝงอยู่อย่างแนบแน่น   อย่างไรก็ตาม  ประเพณีพิธีกรรมและความเชื่อ  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมนั้นย่อมมีการปรับเปลี่ยนไปตามปัจจัยทางสังคมที่ผันแปรได้ตลอดเวลา  ในปัจจุบันพบว่า ประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ ของชาวไทใหญ่ถูกนํามารื้อฟื้นและ ปรับเปลี่ยนในรูปแบบใหม่และความหมายใหม่ ปรากฏการณ์เหล่านี้เองที่ทําให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของชาวไทใหญ่ในบริบทใหม่ที่ชัดเจนโดยเฉพาะในสังคมเมือง  ซึ่งอัตลักษณ์ของชาวไทใหญ่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงความหมาย ครั้งสําคัญ เมื่อหน่วยงานของภาครัฐได้กําหนดให้ประเพณีพิธีกรรมของชาวไทใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่ ดังนั้น ประเพณีพิธีกรรมของชาวไทใหญ่จึงกลายเป็นบริบทของการสร้างอัตลักษณ์ชุดใหม่ของ ชาวไทใหญ่ที่สัมพันธ์กับกระแสทางสังคมอย่างต่อเนื่อง   ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ‘อัตลักษณ์’  เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรม และวัฒนธรรมก็สามารถปรับเปลี่ยนไปตามปัจจัยแวดล้อมทางสังคมได้ตลอดเวลา  เมื่อวัฒนธรรมปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของชนชาติพันธุ์ไทใหญ่จึงปรับเปลี่ยนไปตามเช่นกัน
4.วารสารวิชาการของ ธรรศ ศรีรัตนบัลล์ และ นันท์ชญา มหาขันธ์.(2560).เรื่อง การสร้างความเป็นไทใหญ่แม่ฮ่องสอนผ่านความเชื่อโหราศาสตร์ พบว่า เป็นวารสารวิชาการที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อโหราศาสตร์และบทบาทของความเชื่อโหราศาสตร์ในพุทธศาสนาของไทใหญ่ อิทธิพลของความเชื่อโหราศาสตร์ที่มีผลต่อการสร้างความเป็นไทใหญ่ และการสร้างความเป็นไทใหญ่แม่ฮ่องสอนผ่านความเชื่อโหราศาสตร์ ซึ่งพุทธศาสนามีอิทธิพลย่างมากต่อการสร้างความเป็นไทใหญ่ ทั้งในด้านของโลกทัศน์ วัฒนธรรมประเพณี และวิถีการดำเนินชีวิต โดยรูปแบบของพุทธศาสนาแบบไทใหญ่มีความเชื่อโหราศาสตร์ผสมผสานอยู่ด้วย กล่าวได้ว่าความเชื่อโหราศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างรูปแบบพุทธศาสนาในแบบของไทใหญ่ นำไปสู่การวิจัยว่าลักษณะดังกล่าวส่งผลให้ความเชื่อโหราศาสตร์มีบทบาทต่อการสร้างความเป็นไทใหญ่ทั้งในลักษณะที่ปฏิบัติการผ่านพุทธศาสนาและเกิดขึ้นจากความเชื่อโหราศาสตร์โดยตรงทั้งในระดับปัจเจกและในระดับสังคม ซึ่งเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้แนวทางการศึกษาด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ และนำเสนอในรูปแบบพรรณนาวิเคราะห์ และ ผลการศึกษาพบว่า ความเชื่อโหราศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อดั้งเดิมที่ชาวไทใหญ่ยึดถือเป็นหลัก ต่อมาได้รับความเชื่อโหราศาสตร์จากจีนและอินเดียมาผสมผสาน ปรับใช้และสร้างเป็นลักษณะเฉพาะของความเชื่อโหราศาสตร์ของไทใหญ่ และพบว่าความเชื่อโหราศาสตร์เป็นความเชื่อที่เติบโตเป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนา มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตและเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างตัวตนความเป็นไทใหญ่ ทั้งด้านโลกทัศน์ในการดำเนินชีวิต ความคาดหวังและวิธีการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น แม้ว่าในปัจจุบันโลกจะมีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ แต่ความเชื่อโหราศาสตร์ยังคงมีบทบาทอยู่ในชุมชนชาวไทใหญ่ และกระแสท้องถิ่นนิยมได้ขยายตัวอย่างกว้างขวางในประเทศไทย พบว่าความเชื่อโหราศาสตร์ได้ถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างและนิยามความเป็นไทใหญ่ของคนไทใหญ่ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นการสร้างและนำเสนอภาพความเป็นไทใหญ่ เพื่อตอบสนองการรื้อฟื้นตัวตนของคนไทใหญ่ รวมถึงตอบสนองการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และค่านิยมเกี่ยวกับความเชื่อโหราศาสตร์ในประเทศไทย
สรุป จากการสำรวจสถานภาพความรู้เกี่ยวกับเรื่องไทใหญ่ ในด้านสังคมและวัฒนธรรม เป็นข้อมูลประเภทหนังสือทั้งหมด 2 เล่ม ประเภทบทความ 1 เรื่องและประเภทวารสาร 1 เรื่อง โดยเนื้อหาที่ได้ศึกษาพบว่า เนื้อหาส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่สำคัญของชนชาติไทใหญ่ เช่น ประเพณีปอยส่างลอง เป็นประเพณีที่เด็กผู้ชายไทใหญ่ทุกคนต้องผ่านการเข้าร่วมพิธีนี้ มีวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับหลักคำสอนทางศาสนาซึ่งเป็นการผสมผสานกันระหว่างความเชื่อดั่งเดิมกับศาสนาพุทธใช้ในการดำเนินชีวิต เช่น ในวารสารวิชาการเรื่อง การสร้างความเป็นไทใหญ่แม่ฮ่องสอนผ่านความเชื่อโหราศาสตร์(2560)นำความเชื่อทางโหราศาสตร์ผสานเข้ากับศาสนาพุทธ ต่อมาความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมที่ถึงแม้ว่ากลุ่มคนไทใหญ่จะอยู่ท่ามกลางความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในแถบอุษาคเนย์ แต่ว่าก็มีการติดต่อกันระหว่างกลุ่มและมีการแลกเปลี่ยนหรือผสมผสานวิถีการดำเนินชีวิตร่วมกัน เช่น ในหนังสือ เรื่อง กว่าจะรู้ค่าคนไทในอุษาคเนย์ (2544) ชาวไทใหญ่และกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ภาษาตระกูลไท-กะได จะมีความเชื่อที่ผูกพันธ์กับข้าว ซึ่งในหนังสือก็จะมีรูปภาพประกอบเอาไว้อย่างชัดเจน

3.ด้านการเมือง
ในการสำรวจสถานภาพความรู้เกี่ยวกับเรื่องไทใหญ่ ในด้านการเมือง พบงานศึกษาเกี่ยวกับไทใหญ่เป็นจำนวน   3  ผลงานดังนี้

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ก่อนตะวันฉาย “ฉาน”
1.หนังสือของ พันเอกเจ้ายอดศึก,นิพนธ์พร เพ็งแก้ว,นวลแก้ว บูรพวัฒน์ (2550)  เรื่อง ก่อนตะวันฉาย “ฉาน” พบว่า เป็นหนังสือที่รวมเล่มมาจากบทความที่เขียนขึ้นโดยพันเอกเจ้ายอดฟ้า งานเขียนสารคดีของนิพนธ์พร เพ็งแก้ว และงานเขียนสารคดีเชิงข่าวจากคุณนวลจันทร์ บูรพวัฒน์ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับการประวัติศาสตร์ของชาวไทใหญ่ในรัฐฉานตั้งแต่การที่อังกฤษและญี่ปุ่นได้เข้ายึดครองรัฐฉานจนถึงปัจจุบันในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชให้แก่ชนชาติไทใหญ่ ซึ่งเป็นปัญหาที่มีความขัดแย้งกันมาอย่างยาวนานและยังไม่มีทิศทางว่าใกล้จะถึงจุดสิ้นสุดของปัญหา และสงครามยิ่งรุนแรงไปอีกเมื่อรัฐบาลทหารเมียนมาร์ได้มีการใช้นโยบายสี่ตัดโดยมีจุดหมายเพื่อตัดเส้นเลือดที่สำคัญของกองกำลังชนกลุ่มน้อย 4 เส้น คือ เสบียงอาหาร แหล่งที่มาของรายได้ การข่าว และสมาชิกใหม่ ซึ่งทำให้เกิดการพลัดถิ่นภายใน เพราะรัฐบาลทหารเมียนมาร์บังคับให้ชาวบ้านอพยพจากชนบทเข้าไปอยู่ภายในเมืองหรือที่อยู่อาศัยใหม่ที่จัดไว้ให้เพื่อให้สะดวกต่อการจัดการกับชนกลุ่มน้อย  แต่ชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือและพากันหลบหนีเข้าไปอยู่ในป่าแทน ซึ่งปัญหานี้ส่งผลกระทบมาถึงตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมาร์ด้วย โดยจุดเด่นของหนังสือเล่มนี้คือการนำเสนอข้อมูลด้วยการเล่าเรื่องราวที่ผู้เขียนได้ไปสัมผัสประกอบกับการใช้รูปภาพประกบการเล่าเรื่องโดยยกประเด็นที่สำคัญและน่าสนใจ เช่น ความเป็นมาของกลุ่มติดอาวุธไทใหญ่ อาชญากรรมสงครามในนามการข่มขืน สิบปีของการกอบกู้กองกำลังกู้ชาติไทใหญ่
ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ แผ่นดินฉานในม่านหมอก
2.หนังสือของ นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว,พันเอกเจ้ายอดศึก และนวลแก้ว บูรพวัฒน์ .(2552).เรื่อง แผ่นดินฉานในม่านหมอก พบว่า เนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นการนำเสนอเรื่องราวการต่อสู้ทางการเมืองในวาระของการกอบกู้ชาติบ้านเมือง วิถีแห่งไทใหญ่  วิถีของผู้นำนายทหาร ประชาชนคนอพยพไทใหญ่แต่ละคน ที่ช่วยกันสุดกำลังในการสร้างชาติไทใหญ่ขึ้นมาใหม่ ซึ่งก็คือการได้มาของความเป็นเอกราชและความสงบร่มเย็นของประเทศไทใหญ่ อีกทั้งยังมีเนื้อหาส่วนอื่นๆสอดแทรกกับเรื่องราวการต่อสู้ทางการเมืองไม่ว่าจะเป็น การลำดับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์รัฐฉาน ต้นรากปัญหายาเสพติดในรัฐฉาน การเมือง การทหาร สาธารณะสุข โรงพยาบาลกลางสนามรบ สมุนไพรในสนามรบ วัฒนธรรมกับชีวิตในมิติต่างๆ ของคนไทใหญ่ ที่อยู่ในช่วงของการทำการเรียกร้องเอกราชจากรัฐบาลเมียนมาร์ และแนวทางของการเรียกร้องเอกราชต่อจากนี้จะเป็นไปในทิศทางไหน ก็ยังคงเป็นปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ณ ปัจจุบัน
ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ประวัติศาสตร์และการปฏิวัติ
3.หนังสือของ อัคนี มูลเมฆ.(2557).เรื่องรัฐฉาน : ประวัติศาสตร์และการปฏิวัติ เป็นหนังสือที่ให้ข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์การเมืองและการปฏิวัติที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์ ซึ่งรัฐฉานถือเป็นตัวอย่างความขัดแย้งอันเนื่องมาแต่ประวัติศาสตร์ ทั้งเป็นตัวอย่างสำคัญที่สุดของความขัดแย้งทางเชื้อชาติทั้งปวงในประเทศนี้ ด้วยว่าขบวนปฏิวัติของชาวไทใหญ่มีอุดมการณ์แบ่งแยกประเทศให้เป็นเอกราชและมีอิสระ ซึ่งแตกต่างจากชนชาติอื่นที่ต้องการประชาธิปไตยและสิทธิปกครองตัวเอง อุดมการณ์นี้ถูกพลักดันขึ้นหลังจากพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษและไม่มีเค้าว่าจะสิ้นสุดลงตอนไหนมีบางช่วงการสู้รบด้วยอาวุธยุติลงชั่วคราวในนามของข้อตกลงหยุดยิง แต่แล้วสงครามกลับปะทุขึ้นใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า อีกทั้งยังแบ่งการนำเสนอเรื่องออกเป็น 4 ภาค คือ ประวัติศาสตร์และการปฏิวัติ เป็นช่วงที่รัฐฉานอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าและรัฐฉานปฏิวัติปลดปล่อยดินแดนจากพม่า ต่อมาคืออวสานของกองทัพเมืองไต และกำเนิดขบวนการปฏิวัติเลือดใหม่ ปัญหายาเสพติดในรัฐฉาน ซึ่งเป็นคำอธิบายของสภาปฏิวัติเมืองไต และการยึดครองรัฐฉิ่นของระบบปกครองพม่า
สรุป    จากการสำรวจสถานภาพความรู้เกี่ยวกับเรื่องไทใหญ่ ในด้านการเมือง เป็นข้อมูลประเภทหนังสือทั้งหมด 3 เล่ม โดยเนื้อหาที่ได้ศึกษาพบว่า เนื้อหาส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของรัฐบาลเมียนมาร์กับชนกลุ่มน้อยต่างๆในประเทศหนึ่งในนั้นก็คือชนชาติไทใหญ่ ที่ต้องการเอกราชเป็นของตนเอง ประเทศเมียนมาร์เป็นประเทศที่มีความแตกต่างกันมากทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นอุปสรรคในการรวมประเทศให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อีกทั้งชาวไทใหญ่มีประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่ค่อนข้างบ่อบซ้ำจากการที่รัฐบาลทหารเมียนมาร์ได้ใช้กองกำลังในการเข้าควบคุมชนกลุ่มน้อยต่างๆในประเทศหลายต่อหลายครั้ง และไม่ประสบผลสำเร็จแสดงถึงความไร้ความสามารถในการจัดระเบียบประเทศของรัฐบาลเมียนมาร์ (ยอร์ช เซเดซ์,2525) ส่งผลให้ชนชาติไทใหญ่รวมตัวกันก่อตั้งกองกำลังติดอาวุธของตนเองและทำสงครามกับรัฐบาลเมียนมาร์ เพื่อเรียกร้องเอกราชจากเมียนมาร์ โดยเนื้อหาในหนังสือทั้ง 3 เล่มจะเป็นการเขียนมาจากประสบการณ์ตรงที่ได้ไปพบเจอมา ทั้งที่แถบชายแดนไทย-เมียนมาร์ หรือในรัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์  หรือคำบอกเล่าจากคนไทใหญ่ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาเอง และได้ค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมจากประวัติศาสตร์และบทความที่เกี่ยวข้อง มีการนำเสนอประเด็นปัญหาที่เกิดจากการทำสงครามครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น ชาวไทใหญ่ที่ได้รับผลกระทบ การละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลเมียนมาร์ การก่อตั้งกองกำลังป้องกันตัวเองชนชาติไทใหญ่

4.ด้านศิลปกรรม
ในการสำรวจสถานภาพความรู้เกี่ยวกับเรื่องไทใหญ่ ในด้านศิลปกรรม พบงานศึกษาเกี่ยวกับไทใหญ่เป็นจำนวน    2   ผลงานดังนี้
1.บทความของ อรศิริ ปาณินท์ .(2557).เรื่อง พลวัตของเรือนพื้นถิ่นไทใหญ่ ในพื้นที่ร่วมทางภูมิศาสตร์ในอุษาคเนย์: ไทย เมียนมาร์ จีน อินเดีย พบว่า เป็นบทความที่เกี่ยวกับการศึกษาเปรียบเทียบเรือนพื้นถิ่นในชุมชนไทใหญ่ที่ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ร่วมทางภูมิศาสตร์ในอุษาคเนย์ อันประกอบด้วย ไทย เมียนมาร์ จีน และอินเดีย ด้วยความที่อาณาจักรมาวหลวง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในแคว้นใต้คง ประเทศจีน เป็นอาณาจักรของไทใหญ่ มีหลักฐานปรากฏว่าเป็นกลุ่มที่มีการตั้งถิ่นฐานยาวนานกว่ากลุ่มอื่นๆ อีกทั้งไทใหญ่เมืองมาวก็มีความสัมพันธ์กับไทใหญ่ในเมียนมาร์และอินเดีย มีการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานกันบ้างทั้งยามสงบและยามสงคราม ส่วนไทใหญ่ในประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่อพยพมาจากรัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์ ซึ่งไทใหญ่ในแถบนี้ก็มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด และในเมื่อไทใหญ่กระจายตัวอยู่ 4 ประเทศนี้ วัฒนธรรม ศาสนาความเชื่อและลักษณะบ้านเรือนของแต่ละพื้นที่จะเป็นอย่างไร เริ่มจากเรือนไทใหญ่ในเมืองแม่ฮ่องสอนของไทย และในเชียงตุง รัฐฉานของเมียนมาร์ ซึ่งมีวัฒนธรรม ศาสนาและความเชื่อที่คล้ายคลึงกัน นั้นคือ ศาสนาและความเชื่อก็เป็นพุทธศาสนาแบบหินยาน ตัวบ้านเรือนจึงมีความแปรเปลี่ยนไปจากเดิมน้อยมาก ยังคงรูปแบบเป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูงหลังคาจั่วปั้นหยา บันไดขึ้นหน้าเรือนไปยังชั้นบนสู่ชานหน้าเรือน โถงกลางที่ประดิษฐาน เข่งพะลา ส่วนเรือนไทใหญ่ในเมืองมาว แคว้นใต้คงสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งอยู่กับวัฒนธรรมหลักของจีน ยังสามารถคงรูปแบบ ผังพื้น และรูปทรงที่เป็นเรือนยกพื้นใต้ถุนสูงอยู่ได้เป็นบางกลุ่ม หลังคายังคงเป็นจั่วปั้นหยา แต่ความเอียงลาดของหลังคาตํ่าแบบเรือนจีน ส่วนเรือนไทอาหมหรือไทใหญ่ในอินเดียนั้น อยู่กับวัฒนธรรมฮินดูเป็นหลัก ไม่มีเค้ารูปของเรือนดั้งเดิมที่เป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูงเลย กลับกลายเป็นเรือนหลังคาจั่วชั้นเดียวติดพื้นดิน  ภายในโถงไม่มี เข่งพะลา แบบเรือนไทใหญ่อีก 3 แหล่ง ผนังเรือนเป็นดินดิบฉาบทับโครงไม้ไผ่เช่นเดียวกับเรือนอินเดียและเนปาล เห็นได้ชัดว่า วัฒนธรรมกระแสหลักในแต่ละพื้นที่ได้มีอิทธิพลครอบคลุมลักษณะของเรือนไทใหญ่ในทั้งไทย เมียนมาร์ จีน และอินเดีย ตั้งแต่ครอบคลุมน้อยในไทยและเมียนมาร์ จนถึงมากในจีน และมากที่สุดในอินเดีย
2.บทความของ  ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี, อินทนนท์ สุกกรี และสาวิตรี ศรีสวัสดิ์ (2560) เรื่องพลวัตของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไท กรณีศึกษาเรือนไทลื้อ และเรือนไทใหญ่ พบว่า บทความนี้เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมบ้านเรือนของไทลื้อและไทใหญ่ ซึ่งสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเป็นมรดกภูมิปัญญาที่สำคัญของมนุษยชาติที่แสดงถึงความชาญฉลาดในการแก้ไขปัญหาเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ถูกสร้างขึ้นจากการเรียนรู้ การลองผิดลองถูกและการถ่ายทอดประสบการณ์ต่อๆมาและนำเอาประสบการณ์หรือภูมิปัญญาเดิมเข้ามาผสมผสานกับเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไปไม่หยุดนิ่งใน จนทำให้เกิดรูปแบบเรือนที่มีความผสมผสานระหว่างลักษณะเดิมของตนและรูปแบบเฉพาะถิ่นที่ปรับตัวตามเงื่อนไข เช่น การสร้างบ้านเรือนในรูปแบบเดิมแต่มีการเปลี่ยนวัสดุที่ใช้เพื่อความสะดวกและง่ายต่อการดำเนินชีวิต ซึ่งถือว่าเป็นการประยุกต์เข้าด้วยกันของภูมิปัญญาเก่ากับภูมิปัญญาที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ อีกทั้งเรือนพื้นถิ่นยังสะท้อนลักษณะเฉพาะของสังคม ที่ต้องคำนึงถึงการจัดวางสภาพแวดล้อม ระบบสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ในการดำเนินชีวิต โดยเรือนพื้นถิ่นทั้งไทลื้อและไทใหญ่ ได้ค่อยๆมีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนภูมิปัญญาในการสร้างบ้าน เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มตน
สรุป    จากการสำรวจสถานภาพความรู้เกี่ยวกับเรื่องไทใหญ่ ในด้านศิลปกรรม เป็นข้อมูลประเภทบทความทั้งหมด 2 เรื่อง โดยส่วนใหญ่เนื้อหาที่ได้ศึกษาพบว่า เกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวไทใหญ่ในการสร้างบ้านเรือนและประดิษฐ์สิ่งของใช้ในการดำเนินชีวิต ซึ่งในบทความทั้ง 2 เรื่องจะเป็นสถาปัตยกรรมในการสร้างบ้านเรือนของชาวไทใหญ่ เป็นภูมิปัญญาของชาวไทใหญ่ที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น โดยจะมีการเปรียบเทียบบ้านเรือนพื้นถิ่นของชาวไทใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น จากบทความเรื่องพลวัตของเรือนพื้นถิ่นไทใหญ่ ในพื้นที่ร่วมทางภูมิศาสตร์ในอุษาคเนย์: ไทย เมียนมาร์ จีน อินเดีย .(2557) บ้านพื้นถิ่นของไทใหญ่ทั้ง 4 ที่มีความเปลี่ยนแปลงไปบ้างเป็นไปตามความเชื่อที่มีอิทธิพลในพื้นที่ โดยบ้านที่ลักษณะยังคงความเป็นบ้านพื้นถิ่นดั้งเดิมของไทใหญ่ก็คือ ในประเทศไทยและเมียนมาร์ ส่วนลักษณะบ้านที่เปลี่ยนแปลงไปมากที่สุด คือ ในประเทศอินเดีย นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงวัสดุในการก่อสร้างเพื่อความแข็งแรงและสอดคลองกับวิถีชีวิตในยุคปัจจุบัน

5.สื่อวิดีทัศน์
          ในการสำรวจสถานภาพความรู้เกี่ยวกับเรื่องไทใหญ่ ในส่วนของ สื่อวิดีทัศน์ พบสื่องานการศึกษาเกี่ยวกับไทใหญ่เป็นจำนวน   4  ผลงานดังนี้
1.VOICE TV (2557) วิดีโอเรื่อง เจ้าฟ้าไร้บัลลังก์แห่งฉาน ตำนานที่มีชีวิต พบว่า รัฐฉาน ดินแดนที่ถูกขนานนามว่า แผ่นดิน 19 เจ้าฟ้า ตอนนี้ราชวงศ์ต่างๆล้วนหลงเหลือเพียงตำนาน หลังจากการรัฐประหารของนายพลเนวิน ก็เกิดการไล่ล่าบรรดาเจ้าฟ้าทั้งหลาย ทำให้หลายองค์ต้องเสียชีวิต และต้องขอลี้ภัยออกจากประเทศไป จึงทำให้ยุคของเจ้าฟ้าหมดไป แต่ในปัจจุบันถึงแม้จะยังมีเชื้อวงศ์เจ้าฟ้าอยู่ แต่อำนาจบารมีไม่ได้เหมือนในสมัยก่อนแล้ว ทรัพย์สินก็ถูกยึดไป และยังคงถูกจับตามองจากรัฐบาลเมียนมาร์ 
2.ThaiPBS  (2559) วิดีโอเรื่อง เจ้าชายน้อยแห่งไทใหญ่ พบว่า ชาวไทใหญ่จะให้ความสำคัญกับการบวชสามเณร มากกว่าการอุปสมบท จึงทำให้เด็กชายชาวไทใหญ่ทุกคนได้พบกับประสบการณ์การบวชปอยส่างลอง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการ เป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ เป็นประเพณีของชาวไทใหญ่ที่มีเอกลักษณ์ ตามความเชื่อว่าการบวชส่างลองเป็นการจำลองมาจากการออกผนวกของเจ้าชายสิทธัตถะ จึงต้องแต่งกายให้สวยงามเหมือนเจ้าชายน้อย และมีการขี่คอเพื่อจะไปบวช ตามรอยพระพุทธเจ้าที่ขี่ม้าไปบวช ซึ่งทั้งฝั่งไทใหญ่ที่ไทยและเมียนมาร์ ก็มีการจัดประเพณีนี้ด้วนเช่นกัน
3.SpringNews (2561) วิดีโอเรื่อง รัฐฉาน มาตุภูมิไทใหญ่ พบว่า นับแต่ที่ประเทศเมียนมาร์จัดการเลือกตั้ง และนางออง ซาน ซูจี ได้เข้ามาทำหน้าที่ในรัฐสภาเพื่อถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายทหาร เป็นเสมือนนัยยะของการเริ่มนับหนึ่งของสิทธิทางประชาธิปไตยในประเทศ แต่ตลอดเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และรัฐบาลยังคงไม่ได้รับการแก้ไขและมีความขัดแย้งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชนชาติไทใหญ่ ซึ่งถือว่ามีเนื้อที่ดินแดนบนรัฐฉานมากถึง 1 ใน 3 ส่วนของประเทศ ในฐานะที่เคยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยิ่งใหญ่ในอดีตและได้ปฏิวัติรัฐฉานจากเมียนมาร์มาตลอด 71 ปี และวันนี้ยังคงยืนหยัดในอุดมการณ์ของพวกเขา มีการจัดการสวนสนามในวันชาติ เพื่อแสดงแสงยานุภาพทางการหทาร
4.ThaiPBS (2562) วิดีโอเรื่อง ไทมาว – แสนหวี ปฐมบทไทใหญ่แห่งรัฐฉาน พบว่า จุดแรกเริ่มของเมืองที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์คนไทใหญ่ ก็คือ เมืองมาว ในรัชสมัยของพระเจ้าเสือข่านฟ้า ในดินแดนเมืองแจ่ล่าน นครรัฐโบราณของชาวไทมาวทางตอนเหนือของรัฐฉานที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศจีน และนำเสนอร่องรอยของโบราณสถาน วิถีชีวิต และงานบุญประเพณีของคนไทมาว ต่อมาได้เดินทางไปยังเมืองแสนหวี เมืองซึ่งเคยเป็นที่ตั้งนครรัฐโบราณของชาวไทใหญ่ ต่อมาจากเมืองแจ่ล่าน ที่ยังปรากฎร่องรอยทางประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตแบบคนไทใหญ่ในแสนหวีที่ยังตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน
 สรุป   จากการสำรวจสถานภาพความรู้ในด้านสื่อวิดีทัศน์ที่เกี่ยวกับเรื่องไทใหญ่ จำนวน 4 เรื่อง โดยเนื้อหาของสื่อวิดีทัศน์จะมีการถ่ายทอดเกี่ยวกับเรื่องราวตำนาน ความเชื่อ และประเพณีที่สำคัญและโดดเด่นของชาวไทใหญ่ที่ผู้คนสนใจในความแปลกใหม่และเป็นเอกลักษณ์ โดยจะพบในสารคดีเรื่อง เจ้าชายน้อยแห่งไทใหญ่ (2559) และเรื่องไทมาว – แสนหวี ปฐมบทไทใหญ่แห่งรัฐฉาน (2562) ที่จะนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมของชาวไทใหญ่ ส่วนสารคดีเรื่อง เจ้าฟ้าไร้บัลลังก์แห่งฉาน ตำนานที่มีชีวิต (2557) จะเป็นการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับทางด้านการเมืองการปกครองและปัญหาที่เกิดขึ้นกับเจ้าฟ้าที่เป็นที่เคารพนับถือของชาวไทใหญ่หลังจากถูกรัฐบาลทหารเข้าควบคุมแล้ว บทบาทของเจ้าฟ้าถูกลดลง ซึ่งในสารคดีถ่ายทอดเรื่องราวและแสดงภาพได้อย่างชัดเจน และเรื่อง รัฐฉาน มาตุภูมิไทใหญ่(2561) ก็เป็นการนำเสนอเรื่องราวทางการเมืองเช่นกัน แต่จะมุ่งนำเสนอไปในทางด้านการทหารและการต่อสู้เรียกร้องเอกราชของกองกำลังไทใหญ่ในรัฐฉาน

สรุปผลการศึกษา
        จากการสำรวจสถานภาพความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับไทใหญ่ ผู้ศึกษาได้ศึกษาจากแหล่งข้อมูลจำนวนทั้งหมด 20 รายการ เป็นผลงานที่เกี่ยวกับด้านประวัติศาสตร์จำนวน 7 รายการ ด้านสังคมและวัฒนธรรม 4 รายการ ด้านการเมือง 3 รายการ ด้านศิลปกรรม 2 รายการ และด้านสื่อวิดีทัศน์ 4 รายการ จากเอกสารส่วนใหญ่จะเป็นการนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์อย่างเดียวของชาวไทใหญ่ค่อนข้างมากรวมไปถึงการนำเสนอเรื่องด้านทางสังคมและวัฒนธรรมของไทใหญ่และการเมืองอย่างเดียวก็มีมากเช่นกัน ส่วนการนำเสนอทางด้านศิลปกรรมของไทใหญ่อย่างเดียวมีค่อนข้างน้อยเพราะเนื้อหาในส่วนนี้ส่วนมากข้อมูลไปรวมกับด้านสังคมและวัฒนธรรม
          การสำรวจเอกสารและวิดีโอข้างต้น สามารถสรุปเนื้อหาโดยรวมของชาวไทใหญ่ได้ว่า ชาวไทใหญ่เป็นชาติพันธุ์ที่มีความประวัติศาสตร์ของตนเองมาอย่างยาวนาน อาศัยอยู่ในดินแดนอุษาคเนย์ มีการอพยพเคลื่อนย้ายไปที่ต่างๆกระจายไปทั่วแถบนี้ เป็นชาติพันธุ์ที่มีเชื้อสายแพร่หลายในภูมิภาคต่างๆ  มีตำนานมีพัฒนาการในการก่อร่างสร้างเมืองของตนเอง โดยเฉพาะในยุครัชสมัยของพระเจ้าเสือข่านฟ้า ที่ถือว่าเป็นยุคที่รุ่งเรือง มีอาณาเขตที่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง อีกทั้งพระองค์ยังทรงรวมชาวไทใหญ่ให้เป็นหนึ่งเดียวได้ ชาวไทใหญ่ยังมีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีที่เป็นอัตลักษณ์ และยังคงมีพัฒนาการของวัฒนธรรมและสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน รวมไปถึงด้านศิลปกรรมที่ชาวไทใหญ่ยังคงภูมิปัญญาเดิมในการสร้างบ้านเรือนพื้นถิ่นและมีการนำไปผสมผสานประยุกต์กับวัสดุใหม่ๆตามยุคสมัย แต่จะมีประวัติศาสตร์การเมืองที่ค่อนข้างบอบซ้ำ เพราะไทใหญ่ ไม่เคยรวมเป็นอันหนึ่งเดียวกันได้เลย เพราะการถูกรุกรานและโจมตีตั้งแต่ กองทัพมองโกล กองทัพพม่า การตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก และการถูกยึดครองอีกครั้งจากรัฐบาลทหารเมียนมาร์ ยุคของเจ้าฟ้าก็สิ้นสุดลงจากการไล่ล่าของรัฐบาลทหารเมียนมาร์ และต้องขอลี้ภัย หรือไม่ก็ถูกลดขั้นมาเป็นสามัญชน แต่ในที่สุดชาติพันธุ์ไทใหญ่ก็สามารถปฎิวัติและออกจากการถูกยึดครองรัฐบาลเมียนมาร์ได้ แต่ก็ยังไม่ได้รับเอกราชจากเมียนมาร์และยังคงเกิดการต่อสู้และความขัดแย้งกันระหว่างไทใหญ่ในรัฐฉานกับรัฐบาลเมียนมาร์จนถึงปัจจุบัน

ข้อเสนอแนะ
            ในการสำรวจสถานภาพความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับไทใหญ่ในครั้งนี้ ผู้จัดทำไม่ได้ระบุให้แน่ชัดว่าเป็นการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับไทใหญ่อยู่ในบริเวณใด เนื่องจากกลุ่มชาวไทใหญ่มีอยู่จำนวนมากหลายประเทศมากในแถบอุษาคเนย์ ทั้งที่ ไทย เมียนมาร์ ลาว จีน อินเดีย ทำให้ข้อมูลที่ได้ค่อนข้างกระจัดกระจายกัน และกว้างเกินไปไม่เฉพาะเจาะจง ถ้าหากผู้จัดทำระบุขอบเขตการศึกษาที่แน่ชัด เช่น การสำรวจสถานภาพความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับไทใหญ่ในเมียนมาร์ อาจจะทำให้เนื้อหามีความชัดเจนมากขึ้น ไม่สับสน และข้อมูลเกี่ยวกับไทใหญ่ส่วนใหญ่จะถูกสอดแทรกเข้าไปในหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในประเทศต่างๆและเนื้อหาค่อยข้างน้อยและไม่เจาะลึก ส่วนในด้านการท่องเที่ยวของชาวไทใหญ่ไม่ค่อยมีเป็นประเภทหนังสือ จะเป็นในส่วนวิดีทัศน์มากกว่า
         
  
บรรณานุกรม
- เจ้ายันฟ้าแสนหวี.(2544).ประวัติศาสตร์ไทใหญ่:พื้นไทตอนกลาง.สำนักพิมพ์ตรัสวิน (ซิลค์เวอร์มบุคส์).เชียงใหม่

- เสมอชัย พูลสุวรรณ.(2552).รัฐฉาน(เมืองไต) พลวัตของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และสังคมการเมืองร่วมสมัย.ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน).กรุงเทพฯ

- หลวงวิจิตรวาทการ.(2549).งานค้นคว้าเรื่องชนชาติไทย.สำนักพิมพ์สร้างสรรค์บุ๊กส์.กรุงเทพฯ

- โครงการพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมและชาติพันธุ์ล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.(2551).ไทใหญ่ความเป็นใหญ่ในชาติพันธุ์.สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.เชียงใหม่

- สมพงศ์ วิทยศักดิ์พันธุ์ (2542) ประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมของชนชาติไท .ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน)/เชียงใหม่

- นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว,พันเอกเจ้ายอดศึก และนวลแก้ว บูรพวัฒน์ .(2552). แผ่นดินฉานในม่านหมอก.openbooks.กรุงเทพฯ

- อัคนี มูลเมฆ.(2557). รัฐฉาน : ประวัติศาสตร์และการปฏิวัติ. เคล็ดไทย.กรุงเทพฯ

- พรรณิดา ขันธพัทธ์. (2558).  การปรับเปลี่ยนวิถีทางประเพณีพิธีกรรม ความเชื่อ  และอัตลักษณ์ของชาวไทใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่. Vol 23 No 41 (2015): มกราคม - เมษายน 2558

 ธรรศ ศรีรัตนบัลล์ และ นันท์ชญา มหาขันธ์.(2560). การสร้างความเป็นไทใหญ่แม่ฮ่องสอนผ่านความเชื่อโหราศาสตร์. Vol 11 No 26 (2017): กันยายน - ธันวาคม 2560

- อรศิริ ปาณินท์ .(2557).พลวัตของเรือนพื้นถิ่นไทใหญ่ ในพื้นที่ร่วมทางภูมิศาสตร์ในอุษาคเนย์: ไทย เมียนมาร์ จีน อินเดีย. Vol 28 (2014): กันยายน 2556 - สิงหาคม 2557

- ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี, อินทนนท์ สุกกรี และสาวิตรี ศรีสวัสดิ์. (2560) .พลวัตของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไท กรณีศึกษาเรือนไทลื้อ และเรือนไทใหญ่. Vol 3 No 2 (2016): VOL.3 NO.2 วารสารวิชาการ การออกแบบสภาพแวดล้อม

- นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว,พันเอกเจ้ายอดศึก และนวลแก้ว บูรพวัฒน์ .(2550). ก่อนตะวันฉาย “ฉาน”. Openbooks.กรุงเทพฯ

- ไพโรจน์   โพธิ์ไทร.(2555). ภูมิหลังชนชาติพยู มอญ พม่า. สำนักพิมพ์วังอักษร.กรุงเทพฯ

- ศิราพร ณ ถลาง.(2545). ชนชาติไทยในนิทาน : แลลอดแว่นคติชนและวรรณกรรมพื้นบ้าน. มติชน.กรุงเทพฯ

- ธีรภาพ  โลหิตกุล (2544). กว่าจะรู้ค่า คนไท ในอุษาคเนย์. ประพันธ์สาส์น.กรุงเทพฯ

- เจ้าพระยาธรรมาเต้.(2544).พงศาวดารเมืองไท (เครือเมืองกูเมือง).สำนักพิมพ์ตรัสวิน (ซิลค์เวอร์มบุคส์). เชียงใหม่

- SpringNews.(2561).Spring Reports: รัฐฉาน มาตุภูมิไทใหญ่
https:// www.youtube.com/watch?v=h_W4OjqhHiE&t=1s

- ThaiPBS.(2562).  Spirit of Asia : ไทมาว –  แสนหวี ปฐมบทไทใหญ่แห่งรัฐฉาน.https://www.youtube.com/watch?v=vE-puHq3eaQ&t=2s

- ThaiPBS . (2559). Spirit of Asia :เจ้าชายน้อยแห่งไทใหญ่https://www.youtube.com/watch?v=EqGnUIIU33g

- VOICE TV. (2557) . เจ้าฟ้าไร้บัลลังก์แห่งฉานตำนานที่มีชีวิต https://www.youtube.com/watch?v=BwRjnf61bDk

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น